พระพิคเณศร์


ตำนานพระพิฆเณศวร์

พระพิฆเณศวร์หรือพระคเณศนั้น เป็นเทพเจ้าของอินเดีย  ในศาสนาพราหณ์และฮินดู ถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความสำเร็จ  สามารถขจัดความขัดข้องได้ทั้งปวง โดยยกย่องเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยาการ เทพเจ้าแห่งสติปัญญา ความสามารถ ความกล้าหาญ โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพนาฎศิลป์ ดุริยางค์ศิลป์ และช่างศิลป์ จะถือเอาเป็นเทพเจ้าประจำวิทยาการนั้นเลยทีเดียว
          " พิฆเณศวร์ " นั้นเป็นนามเฉพาะ หมายถึงผู้ที่เป็นใหญ่ในอุปสรรค เป็นผู้อำนวยความสำเร็จให้แก่กิจการต่างๆ เมื่อมีการประกอบพิธีกรรมใด หรือศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาการใด จึงมีกล่าวคำไหว้บูชาต่อพระพิฆเณศวร์ก่อนเพื่อขอพรให้ปลอดภัย และสามารถฟันฝ่าอุปสรรคทั้งปวงและอำนวยพรให้เกิดความสำเร็จลุล่วงด้วยดี
          พระพิฆเณศวร์ ยังเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งที่คนไทยนิยมอย่างแพร่หลาย ด้วยปรารถนาให้ประสบความสำเร็จช่วยขจัดปัดป้องภยันตราย
          เรื่องราวประวัติของพระพิฆเณศวร์นั้น มีปรากฎอยู่ในคัมภีร์ของศาสนาพรามณ์และฮินดู มีตำนานแตกต่างตามความเชื่อ ในตำนานฝ่ายไทยนั้น " เสฐียรโกเศศ "          และ   " นาคะประทีป " เล่าไว้ว่า
          พระพิฆเณศวร์ เป็นโอรสของพระอิศวร ( พระศิวะ ) และพระอุมา ( พระบารพตี ) มีชายา 2 องค์ ชื่อ พุทธ และ สิทธิ ( บางคัมภีร์ว่า พระคเณศถือพรหมจรรย์ก็มี ) และมีโอรสชื่อ เกษมและลาภ ซึ่งเป็นนามมงคลโดยพร้อม ชาวฮินดูจึงเชื่อว่าใครได้กราบไหว้บูชาพระคเณศก็ประสบแต่ความสุขความเจริญเป็นสวัสดิมงคลนอกเหนือไปจากนับถือเป็นเทพเจ้าแห่งศิลป วิทยาการ
          ตำนานการเล่าขานเกี่ยวกับพระพิฆเณศวร์ที่เล่าขานกันมากก็คือ ตำนานในลิลิตนารายณ์สิบปาง เล่าว่าก่อนที่จะเป็นพระพิฆเณศวร์นั้น เป็นชายหนุ่มมี 6 เศียร 12 กร เป็นเทวฤทธิ์ที่เกิดจากพระอุระของพระอิศวร ในคราวที่เสด็จออกไปปราบอสูรพรหมที่เขาไกรลาศ แล้วได้เสด็จไปรักษาศีลต่อที่เขารัชดากูฏ ขณะที่อยู่ที่นั้น พระอิศวรได้ดื่มพระโลหิตของพระองค์เองจากนิ้วพระบาท แล้วทรงกระทำเทวฤทธิ์ให้บังเกิดเป็นพระกุมารองค์หนึ่งออกจากพระอุระของพระองค์ให้พระนามว่า " พระขันธกุมาร " จากนั้นก็เสด็จกลับมาประทับยังเขาไกรลาศ และประทานนกยูงให้พระขันธกุมารใช้เป็นพาหนะ
          ในเวลานั้นได้มีนางอัปสรตนหนึ่ง ซึ่งเป็นบริวารของพระนางลักษมีได้กระทำผิดจารีตธรรมของเทพอัปสรจึงต้องจุติลงไปเกิดเป็นช้างน้ำชื่อ " อสุรภังคี " ซึ่งสร้างความเดือดร้อนไปทั่วทั้งสามโลก พระอิศวรจึงมีดำริให้พระขันธกุมารลงไปปราบ แต่ช่วงเวลานั้นมีความสำคัญคือ พิธีโสกันต์ ( โกนจุก ) ให้พระขันธกุมาร พระอิศวรจึงมี
     เทวโองการให้จัดพิธีโสกันต์ขึ้นที่เขาไกรลาศ และเชิญบรรดาเทพยดานางฟ้าโดยให้พระนารายณ์มาเป็นผู้เจริญ ( ตัด ) พระเกศาให้
          ครั้นถึงวันมงคลพิธีโสกันต์ พระนารายณ์เกิดบรรทมหลับสนิท แม้เทพเจ้าจะเข้าไปปลุกอย่างไรก็ไม่ตื่น พระอิศวรร้อนใจด้วยใกล้เวลาที่เป็นอุดมฤกษ์ของพิธีโสกันต์แล้ว จึงมีเทวบัญชาให้พระอินทร์อัญเชิญมหาสังข์พิชัยยุทธไปเป่าปลุกพระนารายณ์ให้ตื่นบรรทม
          เมื่อพระนารายณ์ตื่นเห็นพระอินทร์อัญเชิญมหาสังข์พิชัยยุทธมาเป่า จึงรู้ว่ามีเทวบัญชาตามพระองค์จึงตรัสถามว่า " โลกมนุษย์มีเหตุประการใด " พระอินทร์จึงทูลว่า          " พระอิศวรมีเทวบัญชาให้อัญเชิญเสด็จไปเจริญพระเกศาพระขันธกุมาร" " ไอ้ลูกหัวหาย กำลังนอนหลับ ช่างกวนใจจริง " พระนารายณ์พลั้งพระโอษฐ์ด้วยอาการพึ่งตื่นจากพระบรรทม ด้วยเทวนุภาพของวาจาสิทธิ์ พระเศียรของพระขันธกุมารทั้ง 6 เศียร ก็พลันอันตรธานไปทันที สร้างความแตกตื่นตระหนกตกใจ แก่ทวยเทพทั้งหลายที่อยู่ในพิธี
          พระอิศวรจึงมีเทวโองการให้พระวิษณุกรรมประสิทธิ์ลงไปยังโลกมนุษย์ เพื่อหาหัวคนที่ถึงแก่ความตายไปแล้ว โดยต้องเอาผู้ที่นอนหันหัวไปทางทิศตะวันตกมาต่อเป็นเศียรพระขันธกุมาร ปรากฎว่ายังไม่มีผู้ใดถึงที่ตาย และพบแต่เพียงช้างแม่ลูกอ่อนสองเชือกนอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก พระวิษณุกรรมประสิทธิ์จึงตัดสินใจเอาศีรษะลูกช้างไปต่อเป็นเศียรพระขันธกุมารไปก่อนเพื่อแก้เหตุการณ์เฉพาะหน้าในครั้งนั้น
          พระขันธกุมารจึงต้องมีเศียรเป็นช้าง และสามารถมองเห็นได้ดังเดิม พระอิศวรได้ให้พระขันธกุมารลงมาปราบอสุรภังคี พระขันธกุมารได้สำแดงเดชให้พระวรกายมี 4 กร โดยกรหนึ่งทรงบ่วงบาศก์ พระกรหนึ่งทรงขอ พระกรหนึ่งทรงถือค้อนเล็ก และพระกรหนึ่งถือเหล็กแดง ทรงมูสิกะ ( หนู ) เป็นพาหนะ เสด็จไปยังแม่น้ำยมุนาสถานที่ที่อสุรภังคีสถิตอยู่
          อสุรภังคีเห็นเทวกุมารกระทำเทวฤทธิ์ก็มีความโกรธเป็นกำลังจึงพาอมนุษย์จำนวนแสนโกฎิขึ้นมา และพวกอมนุษย์ต่างพ่ายแพ้สู้ไม่ได้พากันดำน้ำหนีไปซ่อนตัวอยู่ใจกลางแม่น้ำยมุนา พระขันธกุมารจึงเอาปลายงวงสูบเอาน้ำในแม่น้ำยมุนาขึ้นมาจนแห้ง จึงเห็นอสุรภังคีและบริวาร
          จากนั้นก็หักเอางาเบื้องซ้ายของตนขว้างไปที่อสุรภังคีและอมนุษย์จำนวนแสนโกฎินั้นตายหมดสิ้น แล้วคายน้ำกลับคืนดังเดิม พระอิศวรเห็นว่าพระขันธกุมารมีเศียรเป็นช้างนั้นมีอิทธิฤทธิ์เหมาะสมดี จึงไม่ผลัดเปลี่ยนพระเศียรไปอีก และประทานพระนามว่า " พระมหาวิฆเนศวร์ หรือ พระพิฆเณศวร์ คือ พระคเณศ ที่หมายถึง เทวผู้มีเศียรเป็นช้าง......
          ตำนานอื่นๆนั้นได้กล่าวไว้ใกล้เคียงกัน เช่น  พระอิศวรและพระแม่อุมาเทวีประสงค์ที่จะมีพระโอรส พระอิศวรจึงแนะนำให้พระอุมาเทวีทำพิธีต่อพระนารายณ์เพื่อขอให้ประทานโอรส  บรรดาเทพทั้งปวงทราบข่าวก็พากันมาแสดงความชื่นชมยินดีกันพร้อมเพรียง พระศนิ ( พระเสาร์ ) ซึ่งได้มาพร้อมกับเหล่าทัพนั้นได้แต่ก้มมองดูแต่ที่พื้นไม่มองกุมาร พระอุมาเทวีเห็น จึงถามว่า " ทำไมเป็นเช่นนั้น " พระศนิตอบว่า " ด้วยเหตุที่ครั้งหนึ่งได้ภาวนาระลึกถึงพระนารายณ์จนเพลินไป ทำให้ละเลยหน้าที่สามี จึงทำให้ภรรยาโกรธ และสาปว่าถ้าตนมองผู้ใดให้ผู้นั้นถึงแก่ความพินาศ จึงทำให้ตนไม่กล้ามองหน้าใครเพราะกลัวจะเป็นผลร้ายแก่ผู้ที่ตนมอง
          พระอุมาเทวีได้ฟังแล้วไม่ทรงถือเป็นเหตุ จึงให้พระศนิมองดูกุมารได้ พระศนิไม่อาจขัดได้ จึงมองพระกุมาร ทันใดนั้นเศียรของกุมารก็ขาดกระเด็น พระอุมาเทวีและทวยเทพต่างเห็นเหตุการณ์ ก็เกิดความโสมนัสกันแสงกันทั่วหน้า เว้นแต่พระนารายณ์ที่ทรงครุฑ เสด็จไปยังแม่น้ำบุษปภัทร เห็นช้างนอนหลับหันหัวไปทางทิศเหนือจึงตัดเศียรช้างนำกลับมาต่อที่พระศอพระกุมาร ทำให้พระกุมารกลับฟื้นคืนชีพขึ้น ซึ่งก็คือ " พระพิฆเณศวร์ "
          ลักษณะของพระพิฆเณศวร์นั้น จะมีความละเอียดอ่อนแตกต่างกัน แต่พอสรุปลักษณะที่นิยมทั่วไปได้ว่าพระพิฆเณศวร์นั้นมีกายเป็นมนุษย์ มีเศียรเป็นช้างมีงาเดียว บางรูปเป็นงาหักด้านขวา บางรูปหักด้านซ้าย รูปร่างเตี้ยพุงพลุ้ย หูยาน สีกายแดง บางตำราว่าสีเหลืองห่มแดง ตามปกติมี 4 กร บางตำรามี 6 กร หรือ 8 กร ในมือ 4 กร นั้นถือขอ ช้างบ่วงบาศ งาหัก และขนมโมทกะ ( ขนมต้ม )
          การถือสิ่งของในมือพระพิฆเณศวร์นั้นมีหลายอย่าง บางตำราว่าถืออาวุธและวัตถุที่แตกต่างกัน เช่น ถือชามขนมโมทกะ หม้อน้ำ ดอกบัว ผลส้ม สังข์ จักร หลาว ธนู คฑา ขวาน  ลูกประคำ งู ผลทับทิม หัวผักกาด เหล็กจาร และสมุดหนังสือ เป็นต้น
          เกร็ดตำนานของพระพิฆเณศวร์ หรือพระคเณศ ที่มาของลักษณะและสิ่งของต่างๆนั้น มีเรื่องเล่าว่า พระพิฆเณศวร์ชอบเสวยขนมโมทกะหรือขนมต้ม ครั้งหนึ่งเสวยขนมต้มจนพุงกาง แล้วก็ทรงหนูเป็นพาหนะไปในเวลากลางคืน บังเอิญพบกับงู หนูจึงตกใจและหลบงู จึงทำให้พระพิฆเณศวร์ตกลงจากหลังหนู ท้องแตก ขนมต้มทะลักออกมาหมด พระพิฆเณศวร์จึงโกยขนมต้มใส่พุงแล้วฆ่างูตัวนั้น เอามารัดท้องที่แตก จึงทำให้พระพิฆเณศวร์มีงูรัดเหมือนเข็มขัดเพื่อกันท้องแตก
          ในการถือสิ่งของในมือนั้น ถ้าเป็นพระพิฆเณศวร์แบบกรมศิลปากรแล้ว พระหัตถ์ขวาบนถือตรีศูล พระหัตถ์ขวาล่างถืองา ที่พระหัตถ์ซ้ายถือบ่วงบาศ พระหัตถ์ซ้ายล่างถือครอบน้ำ ส่วนในแบบของฮินดูจะแตกต่างที่อาวุธ จะถือขวานแทนตรีศูล และถือจานขนมโมทกะหรือดอกบัวแทนครอบน้ำ หรือบางแห่ง พระหัตถ์ซ้ายบนถือตรีศูลหรือจานขนมโมทกะแทนบ่วงบาศ และพระหัตถ์ขวาล่างเป็นมือประทานพร จนดูหลากหลายเอาเป็นหลักไม่ได้ เพราะฉะนั้นการสักการะบูชาหรือสร้างพระพิฆเณศวร์ เพื่อแสดงการเป็นเทพด้านใดนั้นจึงสังเกตได้จากสิ่งของที่นำมาใส่ในกรเป็นหลัก
          การสร้างพระพิฆเณศวร์มีทั้งการแกะสลักหิน และหล่อเทวรูปขนาดใหญ่ใช้เป็นประธานในพิธีสักการะบูชา แล้วได้สร้างขนาดเล็กเป็นเทวรูปบูชา รูปหล่อและเหรียญบูชา  ซึ่งมีการสร้างกันหลายรุ่นหลากหลาย ที่ได้นิยมนั้น ต้องสร้างและทำพิธีในเทวสถาน ( โบสถ์พราหมณ์ ) ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์และกรมศิลปากร สถานที่ราชการที่ใช้พระพิฆเณศวร์เป็นตราประจำกรมรวมไปถึงวิทยาลัยนาฏศิลป หรือมหาวิทยาลัยศิลปากรที่เคยมีการสร้างเหรียญรูปพระพิฆเณศวร์ให้เช่าบูชากันแพร่หลาย
         พระพิฆเณศวร์เป็นเทพแห่งภูมิปัญญาและศิลปวิทยาการ ที่ได้รับการสักการะบูชามาตลอดทุกยุคทุกสมัย ผู้ปรารถนาความรู้ความสำเร็จต่างพากันเคารพนับถือสืบมาจนทุกวันนี้ ผู้ใดได้บูชาและมีไว้บูชาย่อมขจัดความขัดข้องทั้งปวงได้ตลอดไป

อีกตำราหนึ่งว่ากันว่า
          บุคคลใดก็ตามที่มีความศรัทธายึดมั่นในองค์พระพิฆเนศวร์ กล่าวคำนมัสการว่า "นโม คเณศาย วิฆเนศวราย" ต่อเทวรูปผู้มีพระเศียรเป็นช้าง จิตน้อมระลึกถึงพระองค์ให้ช่วยคุ้มครองและประสิทธิ์ประสาทความสำเร็จในกิจการที่กระทำอย่างยึดมั่นในสัจจาธิษฐาน แล้วย่อมได้สิ่งที่ตนพึงปรารถนาเสมอ
        พระพิฆเนศวร์ หรือ อีกพระนามหนึ่งว่า "คเณศ" เป็นเทพเจ้าในศาสนาฮินดูผู้ทรงพระนามเดิมว่า "คณปติ" เป็นเทพเจ้าในศาสนาฮินดูผู้ทรงพระนามเดิมว่า "คณปติ" เป็นพระโอรสของพระศิวะและพระอุมา มีลักษณะที่ปรากฏโดยทั่วไปคือ มีพระวรกายที่สมบูรณ์สีแดง มีงาข้างเดียว มีหนูเป็นพาหนะทรง ประชาชนในประเทศอินเดีย ประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศธิเบต และจีน ต่างนับถือว่า พระองค์เป็นเทพแห่งศิลปศาสตร์ทั้งหลาย และสามารถขจัดปัดเป่าอุปสรรคทั้งปวงยังผลสำเร็จให้บังเกิดแก่ผู้บูชา พระนามเดิมที่ว่า "คณปติ" หรือ "คณบดี" ในภาษาไทย มีความหมายว่า "ผู้เยี่ยมยอด" หรือผู้อยู่สูงสุดแห่งหมู่คณะก็ได้
        คำว่า "คณปติ" เป็นชื่อที่ปรากฏในคัมภีร์ฤคเวท (ประมาณ 100-500 ปีก่อนพุทธกาล) ดังมีคำบูชาพระคณบดีองค์นี้ว่า "หริ โอม ศรีคณปตเย นม" และในกาลต่อมารู้จักกันในพระนามว่า "คเณศ" ซึ่งเป็นคำสนธิจาก "คณ" + "อีศ" เป็น "คเณศ" แปลว่า ผู้อยู่สูงสุดแห่งหมู่คณะ
        ส่วนพระนามที่ประชาชนผู้นับถือพระองค์เรียกอีกพระนามหนึ่งคือ พระพิฆเนศวร์นั้น เนื่องจากศรัทธาที่ประสงค์ให้ได้รับความสำเร็จจากพระองค์ "พิฆเนศวร์" เป็นศัพท์ภาษาที่ถูกแปลงมาเป็นคำไทยแล้วจากคำสนธิที่ว่า วิฆน แปลงเป็น พิฆน + อิศวร เป็น "พิฆเนศวร์" โดยนัยนี้ พระพิฆเนศวร์จึงทรงเป็นเทพเจ้าผู้สามารถขจัดอุปสรรค อันเป็นสิ่งกีดขวางความสำเร็จทั้งปวงได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นพระผู้ประทานความสำเร็จให้แก่บุคคลผู้ทำพลีกรรมแด่พระองค์
        ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2477 ซึ่งเป็นปีที่เปิดสอนวิชาการทางดนตรีและนาฏศิลป์ของโรงเรียนนาฏดุริยางค์ศาสตร์ คือ วิทยาลัยนาฏศิลปในปัจจุบัน มีรูปประติมากรรมแบบลอยตัวคือองค์พระพิฆเนศวร์องค์นี้ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าหันพระพักตร์เข้าหาตึกเรียนหลังแรก คือตึกอำนวยการปัจจุบันแต่ต่อมาได้ถูกย้ายให้หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก
        สำหรับสาระน่ารู้เกี่ยวกับสาเหตุที่พระองค์มีเศียรเป็นช้างและมีงาเพียงข้างเดียวนั้น จะขอกล่าวไว้พอเป็นสังเขปดังนี้
เหตุที่พระพิฆเนศวร์มีพระเศียรเป็นช้าง ในเรื่องของไทยกล่าวว่า เทวกุมารองค์นี้เกิดมาเพื่อปราบอัปสรตนหนึ่ง ซึ่งทำผิดต้องจุติลงมาเกิดเป็นช้างน้ำชื่ออสุรภักดี ซึ่งทำความเดือดร้อนให้แก่สามโลกเป็นอันมาก แต่ก่อนไปปราบต้องทำพิธีโสกันต์ เมื่อเทพยดาทั้งน้อยใหญ่มาประชุมพร้อมกันแล้วยังขาดแต่พระนารายณ์องค์เดียว พระอินทร์จึงได้รับเทวโองการจากพระศิวะให้ใช้มหาสังข์ไปเป่าปลุกพระนารายณ์ ซึ่งกำลังบรรทมอยู่ ณ เกษียรสมุทร ครั้นพระนารายณ์แว่วเสียงสังข์ตื่นบรรทมแล้ว พระอินทร์ก็ทูลเรื่องให้ทรงทราบ พระนารายณ์ทรงเผลอตรัสด้วยความง่วงว่า “ลูกหัวหาย จะนอนหลับให้สบายก็ไม่ได้” ด้วยอำนาจวาจาสิทธิ์ เศียรของเทวกุมารก็ขาดหายไปทันที พระศิวะทรงใช้พระวิศวกรรมไปหาทั่วทุกสารทิศก็ไม่พบ ในที่สุดต้องใช้หัวช้างที่นอนหันหัวไปทางทิศตะวันตกมาต่อ พระกุมารจึงมีเศียรเป็นช้างด้วยเหตุนี้
        นักปราชญ์ชาวอินเดียเชื่อกันว่า พระพิฆเนศวร์เป็นผู้รจนาคัมภีร์มหาภารตะจากวาจาของพระฤษีวยาส
        เรื่องเกี่ยวกับการมีงาข้าวเดียว จนได้รับขนานพระนามว่าเอกทันต์นั้น มีเรื่องเล่าว่าพราหมณ์รามปรศุผู้ได้รับพระราชทานขวานจากพระศิวะถือว่าเป็นศิษย์คนโปรดจะเข้าเฝ้าพระศิวะและพระอุมาบรรทมหลับ แต่ถูกขัดขวางโดยพระพิฆเนศวร์ผู้ทำหน้าที่เป็นนายทวารบาล และไม่เคยรู้จักกันมาก่อนห้ามมิให้เข้าเฝ้า ทั้งสองจึงต้องรบกัน ในที่สุดรามปรศุใช้ขวานขว้างถูกงาซ้ายของพระพิฆเนศวร์ขาด ส่วนรามปรศุถูกพระอุมาสาปให้หมดแรงเป็นท่อนไม้ เมื่อรามปรศุระลึกถึงพระนารายณ์ตามคำแนะนำของพระศิวะแล้ว จึงได้รับการช่วยเหลือให้พ้นคำสาป โดยพระนารายณ์แปลงเป็นพราหมณ์น้อยน่ารักมาพบพระอุมา และใช้อุบายทำให้รามปรศุมีพละกำลังดังเดิม เหตุร้ายทั้งหลายจึงยุติลงด้วยดีเรื่องพระพิฆเนศวร์เสียงาข้างซ้ายที่กล่าวมานี้เป็นที่มาของชุดรำที่มีชื่อคือฉุยฉายพราหมณ์ การแสดงตอนนี้เป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า
        พระพิฆเนศวร์มีหลายพระนาม เช่น เทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ทั่วไปและการได้รับขนานพระนามต่าง ๆ ก็มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระองค์เสมอ บางพระนามก็บ่งถึงลักษณะรูปร่างของพระองค์อย่างชัดเจน
        พระนามต่าง ๆ มีดังนี้
        คเณศ  (คณ+อีศ)  = ผู้เป็นใหญ่ในคณะเทพ
        คเณศวร์ (คณ+อิศวร) = ผู้เป็นใหญ่คณะเทพ
        ส่วนพระนามที่มีความหมายเช่นเดียวกันนี้ ได้แก่ คณบดี คณกรีฑา คณนาถ คณนายก วิฆเนศ วิฆเนศวร พิฆเนศ พิฆเนศวร์ วิฆนนายก วิฆนบดี วิฆนราช (ผู้เป็นใหญ่เหนือความติดขัด)
        สิทธิธาดา (ผู้อำนวยความสำเร็จ)
        เอกทันต์ (ผู้มีงาเดียว)
        ทวิเทหก  (ผู้มีกายสองลอน)
        ลัมพกรรณ  (ผู้มีหูยาน)
        มโหทร  (ผู้มีท้องใหญ่)
        คชานน กริมุข คชมุข คชวัทน  (ผู้มีหน้าเป็นช้าง)
        มุสิกอาสน์  อขุรถ (ขี่หนู)
        โดยทั่วไปสิ่งที่พระพิฆเนศวร์ทรงถือตามปกติก็ได้แก่ ขอช้าง บ่วงบาศ วชิราวุธ งาหัก เหล็กจาร เป็นต้น  ปฏิมากรบางคนสร้างรูปให้มี 4 กรบ้าง 8 กรบ้าง บางทีก็มีถึง 4 พักตร์ 20 กรก็มี ดังปรากฏในประเทศอินเดีย โดยเฉพาะในประเทศอินเดียตอนใต้

        ที่มา : ครูจาตุรงค์ มนตรีศาสตร์ วารสารวังหน้า ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ ประจำภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๔๑

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น